1.ความหมาย
โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ยุพา วีระไวทยะ, 2544, หน้า 139) โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (science process) เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการแก้ปัญหา หรือข้อสงสัย โดยผู้เรียนเป็นผู้วางแผนการศึกษาค้นคว้า ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล สรุปผลและเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ (วินัย ดำสุวรรณ, 2543, หน้า 1) รวมทั้งได้ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โครงงานวิทยาศาสตร์อาจจัดในเวลาเรียนหรือนอกเวลาเรียนก็ได้ รวมทั้งสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทั้งในและนอกบริเวณโรงเรียนซึ่งอาจเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้และมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด (มาฆะ ทิพย์คีรี, 2543, หน้า 5) อาจใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ช่วยในการศึกษาค้นคว้า เพื่อให้การศึกษาค้นคว้านั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ และมีการนำออกแสดงในนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวันวิทยาศาสตร์ (science fair) ของโรงเรียน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดในโอกาสสำคัญต่างๆ
กล่าวโดยสรุป คือ โครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามหรือปัญหาที่ต้องการคำตอบที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (science process) เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการแก้ปัญหา หรือข้อสงสัย โดยผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินขั้นตอนของโครงงานวิทยาศาสตร์เองทั้งหมด ผู้สอนมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้ข้อเสนอแนะ เป็นที่ปรึกษา
2.ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์
จากการสังเคราะห์เอกสารของ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (2547, หน้า 6-9) วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2545, หน้า 60-63) มาฆะ ทิพย์คีรี (2543, หน้า 7-8) และพรพิมล พรพีรชนม์ ( 2550, หน้า 193-194) สามารถสรุปได้ว่าโครงงานวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
2.1 โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสำรวจและรวบรวมข้อมูล มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่างๆอย่างมีระบบ โดยไม่จำเป็นต้องจัดหรือกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
2.2 โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง ลักษณะเด่นของโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลองคือ ต้องมีการออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาผลของตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อตัวแปรหนึ่งที่ต้องการศึกษา โดยมีการควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการศึกษาไว้ หรืออาจกล่าวได้ว่า โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลองจะต้องมีการกำหนดตัวแปรซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ตัวแปรคือ
- ตัวแปรต้นหรือตัวแปรที่ต้องการศึกษา
- ตัวแปรตามหรือผลที่ได้จากการศึกษา
- ตัวแปรควบคุมเป็นสิ่งที่เราต้องควบคุมไว้ให้คงที่มิฉะนั้นจะมีผลต่อตัวแปรตาม
- ตัวแปรแทรกซ้อน หมายถึงตัวแปรที่เราไม่อาจคาดคิดได้ แต่เป็นตัวแปรที่มีผลทำให้ตัวแปรตามผิดไปจากเดิม เช่น ในขณะที่นักเรียนศึกษาการตกของวัตถุหลายๆขนาดลงบนพื้นมีลมพัดอย่างแรงเกิดขึ้น ทำให้ผลการวัดผิดไป เราจะเรียกการพัดของลมว่าตัวแปรแทรกซ้อน
2.3 โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆซึ่งอาจคิดประดิษฐ์ใหม่ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งการสร้างแบบจำลองต่างๆ เพื่อประกอบการอธิบายแนวคิดในเรื่องต่างๆ โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์คิดค้นนี้ จะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา สังคม อาชีพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
2.4 โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี เป็นการเสนอทฤษฎี หรือหลักการ หรือแนวความคิดใหม่ ซึ่งอาจเป็นไปในรูปของสูตร สมการ คำอธิบายหรือแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครคิดมาก่อน หรือขยายจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งความรู้ ทฤษฎี หลักการหรือแนวคิดที่เสนอต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือตามกติกา/ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นมาเอง หรืออาจใช้กติกาหรือข้อตกลงเดิมมาอธิบายข้อความรู้ ทฤษฎี หลักการ แนวคิดใหม่ๆ ได้
จากการสังเคราะห์ประเภทของโครงงาน ผู้ศึกษาค้นคว้าได้ดำเนินการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานที่ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารและสมบัติของสาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยผู้เรียนจะศึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ประเภท โดยจะได้รับมอบหมายให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์กลุ่มละ 1 เรื่อง นักเรียนสามารถเลือกประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์ตามความต้องการที่จะทราบถึงคำตอบที่ผู้เรียนสนใจ
3.บทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงงาน
จากการสังเคราะห์เอกสารของลัดดา ภู่เกียรติ (2552, หน้า 97-102) และ บุญเลี้ยง ทุมทอง (2550, หน้า 110-113) สามารถสรุปได้ว่าบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการทำโครงงานมีดังนี้
3.1 บทบาทของครูที่ปรึกษา
1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงาน ค้นหาข้อมูลด้านแหล่งความรู้ งบประมาณ เอกสาร วัสดุอุปกรณ์สำหรับการดำเนินกิจกรรม
2) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการทำโครงงาน
3) แนะแนวทางให้ผู้เรียนรู้หลักการและวิธีการการทำโครงงาน
4) จัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเห็นปัญหา และเลือกปัญหาที่จะศึกษาได้
5) ให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนหรือร่วมวางแผนดำเนินงาน การเขียนเค้าโครงและการเขียนรายงานโครงงาน
6) อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการทำโครงงานในทุกด้าน
7) ติดตาม ดูแล สนับสนุนการทำโครงงานของผู้เรียนทุกระยะ ให้คำแนะนำ หรืออาจต้องช่วยแก้ปัญหาเมื่อจำเป็น กระตุ้นและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
8) ให้โอกาสผู้เรียนได้แสดงผลงานของตนเองในรูปที่เหมาะสม
9) ประเมินผลการทำโครงงานให้รู้จุดเด่น จุดด้อยของงานเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการทำโครงงานของผู้เรียนให้ดีขึ้น
10) ยกย่องชื่นชมนักเรียนที่ได้ผลการประเมินดีที่สุด และชื่นชมให้ความร่วมมือกันทำงานกลุ่มของทุกกลุ่มที่ทำให้โครงงานประสบความสำเร็จ
3.2 บทบาทของผู้เรียน
1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่สนใจอยากทำ
2) เลือกสมาชิกที่จะร่วมกลุ่มที่มีความเข้าใจกันและมีความคิดเห็นตรงกันจะทำให้งานราบรื่นและสำเร็จไปด้วยดี
3) มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน
4) ยอมรับฟังเหตุผลของกันและกัน และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ การดำเนินงานเป็นไปโดยความเห็นชอบของทุกคน
5) มอบหมายหน้าที่การทำงาน ทำงานด้วยความรับผิดชอบและช่วยเหลือให้กำลังใจซึ่งกันและกันแม้แต่เพื่อนกลุ่มอื่นด้วย เพื่อแสดงความเป็นกัลยาณมิตร
6) แบ่งเวลาในการทำงานทั้งงานประจำและกิจกรรมโครงงานซึ่งอาจต้องใช้เวลาทั้งในและนอกเวลาเรียน
7) สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์บูรณาการกับวิชาอื่นๆ ได้
8) ใช้ทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในการแสวงหาความรู้ที่ต้องการรู้ ต้องการศึกษา เพื่อเป็นการสร้างสมคุณลักษณะนักวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในตนเอง
9) มีเจตคติที่ดีในการเสาะแสวงหาความรู้ที่ตนเองต้องการรู้โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และภูมิใจในผลงานของตนเอง
3.3 บทบาทของครูในโรงเรียน
1) มีส่วนร่วมให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ
2) มีความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างครูด้วยกัน
3) ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล ด้านเอกสาร ด้านตัวผู้เรียนที่อยู่ในความดูแล และด้านความรู้เฉพาะทาง
3.4 บทบาทของผู้บริหารโรงเรียน
1) สนับสนุนงบประมาณและให้ความช่วยเหลือด้านสถานที่ภายในโรงเรียน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ อนุญาตให้นักเรียนที่มีความต้องการใช้มาใช้ได้ตามเวลาและโอกาสที่เหมาะสม หากอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้แต่ไม่มีใช้ ก็ควรจัดหามาให้
2) ส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงาน โดยให้เข้ารับอบรม หรือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายในโรงเรียน
3) สนับสนุนให้ครูมีโอกาสได้ทำผลงานทางวิชาการจากกิจกรรมที่จัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารูปแบบจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงาน โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ และผู้สนใจทั่วไปเข้ามาชมการนำเสนอของผู้เรียน หรือส่งผลงานเข้าประกวด
4) จัดหน่วยประชาสัมพันธ์ผลงานโครงงานของผู้เรียน เผยแพร่ด้วยวิธีการต่างๆ
5) สนับสนุนให้ครูที่สนใจสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานในตารางเวลาเรียนปกติ
3.5 บทบาทของครอบครัว
1) ควรรับทราบและทำความเข้าใจการทำโครงงานของผู้เรียนนอกเวลาเรียน
2) ให้กำลังใจ แนะนำ จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ และแนะนำแหล่งเรียนรู้ที่จะสามารถแก้ปัญหาในการทำโครงงานได้ ไม่ทอดทิ้งผู้เรียน
3) จัดเวลาว่างให้ผู้เรียนได้มีเวลาในการทำโครงงานได้อย่างเต็มที่
4) พี่ที่เคยทำโครงงานอาจเล่าให้น้องฟังเพื่อเป็นแนวคิดในการต่อยอดการทำโครงงานจากที่เคยทำไว้แล้วก็ได้
3.6 บทบาทของชุมชน
1) ให้ความรู้ต่างๆ ด้านสถานที่ ด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาถ่ายทอดให้กับผู้เรียนซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
2) สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานโครงงาน
3) เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูล
4.คุณค่าของโครงงาน
โครงงานเป็นกิจกรรมที่สามารถจัดได้ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาที่จะให้ผู้เรียนทำเป็นงานกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ ควรเริ่มจากโครงงานที่มีขนาดเล็กๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนให้ทำได้ประสบความสำเร็จในการทำโครงงานนั้น แม้หลักการสำคัญของการทำโครงงานจะต้องเป็นงานที่นักเรียนมีความสนใจอยากทำจริงๆ แต่หากครูพิจารณาแล้วยากเกินไปก็สามารถแนะนำให้ผู้เรียนเปลี่ยนทำเป็นงานชิ้นเล็กๆ ไปก่อนได้ ซึ่งครูจะเป็นผู้ดูแลให้ผู้เรียนรู้จักเลือกทำโครงงานที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเองเพื่อที่จะได้ทำโครงงานนั้นสำเร็จตามขั้นตอน เพราะการเริ่มต้นด้วยความสำเร็จจะนำไปสู่การทำชิ้นงานอื่นต่อไปอย่างมีความสุข ทั้งโครงงานยังเป็นกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนคิดเอง ทำเอง และแก้ปัญหาด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การคิดหาปัญหาที่ผู้เรียนสนใจจะศึกษา ทำการวางแผนแก้ปัญหา ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ลงมือปฏิบัติ รวบรวมข้อมูลที่ศึกษา ทดลอง บันทึกผลการศึกษา แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าของตนเองหรือกลุ่มเผยแพร่ต่อผู้อื่นต่อไป ซึ่งจะครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้ที่มีระบบชัดเจน กิจกรรมโครงงานสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาระและเนื้อหาวิชา (ลัดดา ภู่เกียรติ, 2552, หน้า 21-22)
การจัดการเรียนการสอนโดยโครงงาน เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีประเด็นสำคัญดังนี้ (บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2550, หน้า 84-85)
1. ผู้เรียนได้เลือกเรื่อง/ประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษาด้วยตนเอง
2. ผู้เรียนเลือกและหาวิธีการ ตลอดจนแหล่งข้อมูลที่หลากหลายด้วยตนเอง
3. ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง
4. ผู้เรียนสามารถบูรณาการทักษะ/ประสบการณ์/ความรู้/สิ่งแวดล้อมรอบตัวในขณะที่เรียนรู้ด้วยโครงงาน
5. ผู้เรียนเป็นผู้สรุปด้วยตนเองหรือสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
6. ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้อื่น
7. เป็นการหาคำตอบ ข้อสงสัยโดยใช้ทักษะการเรียนรู้และปัญหาหลายด้าน
8. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักสูตรกับการจัดการเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืน
9. เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
10. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจ ใคร่รู้คำตอบของตัวผู้เรียนเอง
11. เป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง มีระบบขั้นตอนและต่อเนื่อง
12. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
โครงงานวิทยาศาสตร์
ประเภทสำรวจ
โครงงานวิทยาศาสตร์
ประเภททดลอง
โครงงานวิทยาศาสตร์
ประเภทสิงประดิษฐ์
โครงงานวิทยาศาสตร์
ประเภททฤษฎี